วิเคราะห์จิตรกรรมสีน้ำมัน WRT
ผมเข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ปี ๒๕๐๖ สายครูศิลปะ เมื่อถึงช่วง ๒ ปีสุดท้ายก็เน้นทางด้านจิตรกรรม รวมทั้งสามปีแรกที่เป็นการเรียนรู้ทางด้านจิตรกรรม พื้นฐานทางศิลปะ การออกแบบ และการช่างที่หลากหลาย ตามหลักการของโรงเรียนเพาะช่าง ที่ต้องการรักษาดุลยภาพระหว่างกระแสตะวันตกและรากฐานไทย ทัศนศิลป์ที่มีการช่างเป็นพื้นฐาน สำหรับทางด้านทัศนศิลป์หรือการเน้นทางด้านจิตรกรรมของตนเองแล้ว โรงเรียนเพาะช่างได้ผสานศิลปะหลักวิชา (Academic Art) กระแสเก่า กระแสโบราณเรอนาส์ซองส์เมื่อ ๕๐๐ ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในช่วงต้น ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ช่างปั้นจากอิตาลีมาวางรากฐานไว้ การที่โรงเรียนเพาะช่างเชื่อมั่นในกระแสตะวันตกผสานกับพื้นฐานวิชาช่างไทย ด้วยเชื่อว่า ศิลปกรรมไทยต้องต่อยอดความเป็นช่างซึ่งเป็นรากฐานศิลปะของไทย หรืออาจได้รับกระแสความคิดของศิลปินอังกฤษ วิลเลียม มอร์ริส ผู้ขับเคลื่อนศิลปะบนรากฐานศิลปะงานช่าง ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็เป็นไปได้
เมื่อเข้าเรียนศิลปศึกษาที่ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ตักสิลาทางการศึกษาในช่วงเวลานั้น การศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ที่ก้าวหน้า ผสานวัฒนธรรมและ ศาสนธรรม ศาสตราจารญ์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ ได้ขับเคลื่อนกระบวนการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ทางศิลปะ วิพากษ์วิจารณ์สังคม วางรากฐานปรัชญาความคิด ศิลปศึกษาบนรากฐาน Progressive Education วัฒนธรรมการอ่าน การศึกษาค้นคว้า และกระบวนการของศิลปะสมัยใหม่ อิทธิพลศิลปะสมัยใหม่สายอเมริกันคนเถื่อน American Abstract Expressionism ที่สถาปนาและเฟื่องฟูในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก กระบวนการ USIS กระบวนการ Peace Corps การส่งกองทัพไปทั่วโลก และการตอบรับนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในสหรัฐอเมริกามากมาย เป็นการรุกคืบของลัทธิอเมริกัน (Americanism) อย่างสำคัญยิ่ง แล้วท้ายที่สุด เราจะมีตัวตนเป็นตัวของเราเองได้อย่างไร
ท่านอาจารย์อารี สุทธิพันธุ์ Existentialist เสรีชน ผู้แสวงหาเปลวไฟจากอดีตและปฏิเสธขี้เถ้าจากอดีต ผู้เป็นครูต้นแบบ เป็นนักคิด นักวิชาการ นักรื้อถอน นักสร้างสรรค์ ก็ได้รับความศรัทธาเต็มเปี่ยมจากสานุศิษย์ทั้งมวล
ผมอาจมีเชื้อนอกกรอบ มีมิติความคิดจากการอ่านและประสบการณ์ เมื่อผ่านกระบวนการสร้างคนของท่าน ชีวิตก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างสำคัญยิ่ง กระบวนการคิด การแสวงหาความรู้ความคิด และกระบวนการสร้างสรรค์จิตรกรรม เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก เมื่อไปศึกษาต่อ MFA. (Master of Fine Arts : Painting) ที่ The American University กรุงวอชิงตัน ดีซี ได้ดรออิ้งภาพคน ภาพนู๊ด ที่ถือว่าตนเองก้าวหน้าพอสมควร เพื่อนอเมริกันคนหนึ่งมาชื่นชมว่า “ดรออิ้งของยูเยี่ยมมาก แต่น่าจะไปเกิดในสมัย มิเคลันเจโล” เลยไม่รู้ว่าก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า
การศึกษาที่ The American University ได้ดรออิ้งและเขียนภาพสีน้ำมันไว้พอสมควร ดรออิ้งด้วยแท่งถ่าน แลนด์สเคปที่เรียบง่าย Color Field และ Abstraction เมื่อเรียนจบรีบเดินทางกลับบ้านกับคนรัก ฝากงานศิลปะทั้งหมดไว้ เพื่อให้ช่วยส่งกลับเมืองไทย ท้ายที่สุด ผลงานทั้งหมดนั้นสูญสลายสิ้น เศร้าใจมาก
หลังจากนั้นก็ได้ทุนไปศึกษาต่อที่ Illinois State University แม้จะเป็นทางด้านศิลปศึกษา ก็ได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมไว้พอสมควร เป็นงานขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นนามธรรม ผสมผสานความคิด เนื้อหาสาระที่เป็นตัวตนของเราเอง สังเกตได้จากงานช่วง ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘ (1984 – 1985) หอบงานช่วงนี้กลับมาเกือบทั้งหมด
การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมของตนเอง อดีตถึงปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก อาจเป็นความเชื่อส่วนตัว มนุษย์ทุกคนมีตัวตน มีความเป็นปัจเจกบุคคล คิดอย่างไร แสดงออกอย่างไร ย่อมสะท้อนตัวตนออกมา ไม่จำเป็นต้องขีดวงไว้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง กำแพงตลอดชีวิต ท้องฟ้าตลอดชีวิต แมวตลอดชีวิต ปิคาสโซอาจแสดงออกสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก นกเค้าแมว อาคารบ้านเรือน นามธรรม ฯลฯ แสดงออกมาอย่างไรก็บอกได้ว่าคือ “ปิคาสโซ” ตัวตนของปิคาสโซ
นอกจากนั้น ด้วยการศึกษาค้นคว้า ด้วยการพบเห็น รวมทั้งการสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ทุกระดับ ในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ ทำให้เชื่อมั่นในความหลากหลาย ทั้งกระบวนการคิด เนื้อหาสาระ กลวิธี (techniques) และพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ จึงเชื่อมั่นในความหลากหลาย อิสระ และไม่ประสงค์จะขีดวงไว้ให้กับตนเอง
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ช่วงประมาณสองทศวรรษจนถึงทุกวันนี้ (๒๕๕๖) โลกไซเบอร์ผลักดันให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นการโชคดีของชีวิตที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับโลกที่มีพลังเปลี่ยนแปลงรุนแรงมาก เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด อย่างฉับพลันทันใด real time world กำลังท้าทายความเป็นมนุษย์ ท้าทายคนรุ่นใหม่ คนรุ่นลูกหลานเหลนของเราเป็นอย่างมาก โลกศิลปะก็เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับฉลันทันใดของโลกใบนี้ด้วย เราและกระบวนการคิดของเรา กระบวนการทำงานของเรา ผลงานของเรา กำลังกลายสภาพเป็นอดีต อาจเป็นอดีตที่ล้าหลังหรือไม่ล้าหลังก็ตามที เราและผลงานในชีวิตของเราอาจอยู่ในความทรงจำสักระยะหนึ่ง สั้นหรือยาว ตัวใครตัวมัน อาจอยู่ในความทรงจำของผู้คนในวงกว้าง ใกล้ ๆ เรา รอบ ๆ เรา ครอบครัว คนรัก คนศรัทธา แล้วเวลาก็ค่อย ๆ กลืนกินความเป็นพวกเราทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม แม้เวลาจะกลืนกินพวกเรา เราก็คงไม่ยอมจำนน เราก็จะกลืนกินเวลาไปพร้อมกันด้วย
เมื่อไปเรียนต่อที่ วอชิงตัน ดีซี สองปีเศษ ได้วนเวียนอยู่ในสถาบันสมิธโซเนียน ที่อาจถือได้ว่าเป็นแหล่งเป็นระบบพิพิธภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก มิใช่เพียงความยิ่งใหญ่ของระบบพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะมากมายหลายแห่งเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์อวกาศ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์งานช่าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะและอุตสาหกรรม ฯลฯ เลยไปถึง Library of Congress อีกด้วย อิจฉาชาวอเมริกันที่บ้านเมืองของเขาจัดการสิ่งดี ๆ เพื่อคนของเขาในสังคมใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม
ช่วงเวลานั้น (๒๕๑๘ – ๒๕๒๑) ศิลปะหลังสมัยใหม่ ( Postmodern Art) มีบทบาทมากขึ้น ได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็นตามสมควร ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และเริ่มคิดว่าการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเรา ๆ หรือการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยแบบไทย ๆ ศิลปินที่ต้องมีลักษณะพิเศษ ศิลปินต้องอยู่เหนือธรรมชาติ ศิลปะอยู่บนฐานช่างฝีมือ ศิลปะอยู่ที่การประโคมข่าว ศิลปะอยู่ที่พวกใครพวกมัน พื้นที่ทางศิลปะที่มีอาณาจักร กีดกันพื้นที่กันไว้ คงจะเดินทางต่อไปอีกสักระยะ แล้วคลื่นโบราณลูกแล้วลูกเล่าก็จะผันผ่านไป
เพื่อนนักศึกษาชาวอเมริกัน สร้างงานศิลปะด้วยผ้าใบทำเป็นรูปไข่ดาวขนาดใหญ่ ในฤดูหนาว แม่น้ำโปโตแมคจับตัวเป็นน้ำแข็ง เขานำไข่ดาวยักษ์ไปวางไว้ในแม่น้ำ ยามเช้า อเมริกันชนขับรถข้ามมาฝั่งวอชิงตัน ดีซี แน่นขนัดทุกวัน แต่เช้าวันนั้นจราจรแออัดเป็นพิเศษ ทราบว่ารถติดทั้งเมือง เพราะฝรั่งเห็นไข่ดาวยามเช้าเป็นไม่ได้ เมื่อกลับมาเมืองไทย ครูของเราก็ยังทำอะไรต่อมิอะไรนอกกรอบ นอกแบบ (Out – Circle Art) อีกหลายต่อหลายอย่าง เช่น ทำไส้กรอกผ้าหลากสีขนาดใหญ่ ยาวหลายสิบเมตร ไปแขวนระโยงระยางไว้ตามต้นไม้ใหญ่ ทำเป็นศพรูปคนด้วยกระดาษไปซุกไว้ตามมุมต่าง ๆ ตอนกลางคืน เช้ามืดก็วุ่นวายกันไปหมด หรือสร้างประติมากรรมอะลูมิเนียมเดินผ่านแล้วเสียงหนวกหู เป็นต้น
ขณะนี้ (๒๕๕๖) ผมหมดหน้าที่บริหารมหาวิทยาลัยแล้ว คงเป็นช่วงเวลาปรับตัวเอง ตรวจสอบตนเอง และจัดระบบงานในอดีต ทั้งงานวิชาการ จิตรกรรม บทกวี รวมทั้งสิ่งของสะสม (Collectables) ที่ผมเรียกว่า “Cultural Heritage” จำนวนหนึ่ง เมื่อถึงวันที่เราไม่อยู่บนโลกใบนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้มีข้อมูล ทุกอย่างจะมีคุณค่าหรือไม่ เราไม่อาจคาดการณ์อนาคตได้ ย่อมเป็นเรื่องของอนาคตที่เราควรยินดีทุกประการ
ผลงานจิตรกรรม
ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมัน สีน้ำ และงานดรออิ้ง จากประมาณหลังปี ๒๕๑๐ (1967) ช่วงจบการศึกษาที่ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ถึงขณะนี้ (๒๕๕๖) สามารถวิเคราะห์แยกแยะออกเป็น ๒ กลุ่มกว้าง ๆ จิตรกรรมนามธรรมและจิตรกรรมรูปธรรม ซึ่งอาจมองภาพรวมได้ ดังนี้
- จิตรกรรมนามธรรม/Abstract Paintings
- ภาพไร้เรื่องราว (Nonrepresentation)
- สกัดสาระ (Extraction)
- ปฏิกิริยา (Action)
- สนามสี (Color Field)
- ภาพจิตใต้สำนึก (Subconsciousness)
- ภายใน (Inside)
- สังคม (Society)
- การเมือง (Politics)
- ภาพสัมผัสกวีศิลป์ (Poetical Sense)
- กวีศิลป์สัมพันธ์ (Poetic Relations)
- คุณภาพเชิงกวีศิลป์ (Poetic Quality)
- สัมผัสธรรมชาติ (Natural Sense)
- จิตรกรรมรูปธรรม/Cocrete Paintings
- ภาพบุคคล (Person)
- ภาพเสมือน (Portrait)
- ภาพคน (Human)
- ภาพศรัทธา (Icon)
- ภาพสิ่งแวดล้อม (Environment)
- ธรรมชาติ (Nature)
- มนุษย์สร้าง (Man-Made)
- โลกกว้าง (World-Wide)
- ภาพปฏิสัมพันธ์วัตถุ (Object Interactions)
- สัมผัสวัตถุ (Object Sense)
- ภาพถ่ายปะติด (Photomontage)
- ดอกไม้ (Flowers)
ผมพยายามมองภาพรวมการสร้างสรรค์จิตรกรรมของตนเองทั้งหมด แยกกลุ่มใหญ่และย่อยให้ครอบคลุมการแสดงออกพอสมควร ปริมาณในแต่ละส่วนแตกต่างกันออกไป ซึ่งในแต่ละส่วนก็มีจำนวนงานอยู่พอสมควร ภาพรวมทั้งจิตรกรรมสีน้ำมัน จิตรกรรมสีน้ำ และภาพวาดหรือ ดรออิ้งที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จิตรกรรมสีน้ำที่ชะลอตัวลงตั้งแต่เมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา รวมแล้ววเป็นผลงานในห้วงเวลาประมาณ ๔๐ ปี ยาวนานมาก สอนหนังสือ ค้นคว้าวิจัย เขียนหนังสือ เขียนวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ ทำงานศิลปะ รวมทั้งการทำงานบริหาร วันเวลาผันผ่านไปเร็วมาก
จิตรกรรมนามธรรม (Abstract Paintings)
ภาพผลงานจิตรกรรมที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึกนึกคิดภายใน ซึ่งเกิดจากการรับรู้ (to perceive) โลกภายนอก สร้างภาพความคิด ภาพในสมอง แล้วแสดงออกเป็นผลงานศิลปะ เป็นภาพที่ไร้รูปร่างหน้าตา ไร้ตัวตนจากโลกภายนอก หรือไร้เรื่องราว (Nonrepresentational Paintings) ภาพสะท้อนจากจิตใต้สำนึก (Subconsciousness) ตามแนวคิดจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่เชื่อในภาวะเก็บกดของมนุษย์ที่สะท้อนออกมาในลักษณะและอาการต่าง ๆ กัน และในความเป็นจริงที่ให้ความสำคัญกับการเขียนและ ชื่นชมบทกวี บทกวีที่เป็นภาษาความคิด เป็นผลึกความคิด เป็นความคิดที่สกัดมาจากประสบการณ์ เป็นภาษาคำและภาษาความคิดที่ไพเราะงดงาม จิตรกรรมนามธรรมที่แสดงออกเป็นภาพสัมผัสกวีศิลป์ (Poetical Sense) จึงปรากฏขึ้น นักปรัชญาและกวีชาวอเมริกัน อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ใช้คำว่า “Poetical Sense” เพื่อหมายถึง ความสัมผัสอันลึกซึ้งต่อธรรมชาติ และความอยู่เหนือธรรมชาติ (Transcendentalism)
ภาพไร้เรื่องราว (Nonrepresentation) ทั้งจิตรกรรมสีน้ำมันและจิตรกรรมสีน้ำ ที่แสดงออกในลักษณะ สกัดสาระ (Extraction) สกัดหรือดึงสาระ เรื่องราว รูปทรง ความรู้สึก จากโลกภายนอก จากธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไม่แสดงเรื่องราว ไม่แสดงภาพให้ปรากฏ แสดงภาพแสดงเรื่องราวที่ไม่มีตัวตน เช่น Movement in Blue (watercolor on paper, 12 x 16 cm., 1996), We Have to Move (oil on canvas, 110 x 175 cm., 1997), Nude Landscape (watercolor on paper, 46 x60 cm., 1999), Light Up (oil on canvas, 60 x 80 cm., 1999), Year 2001 (oil on canvas, 70 x 90 cm., 2001), Red Areas on Dynamic Circle (oil on canvas, 50 x 60 cm., 2001) เป็นต้น
ปฏิกิริยา (Action) ปฎิกิริยาในที่นี้หมายถึงการแสดงออกทางจิตรกรรม ด้วยปฏิกิริยาที่เป็นริ้วรอยแปรง ริ้วรอยพู่กัน หรือริ้วรอยที่เกิดจากปฏิกิริยาอื่น ๆ แสดงอาการเข้มแข็ง รุนแรง ฉับไว เส้นแคลิกราฟี เส้นเจสเจอร์ เป็นปฏิกิริยาและปฏิสัมพันธ์บนพื้นภาพที่ไร้เรื่องราว ไร้ภาพจากโลกภายนอกโดยตรง เป็นภาพนามธรรมลักษณะหนึ่ง เช่น Red (oil on canvas, 21 x 26 cm., 1994), On the Sky (oil on canvas, 90 x 120 cm., 1995), Woman in Red (watercolor on paper, 55 x 30 cm., 1996), At Night (oil on canvas, 81 x 122 cm., 2000), Umnard’s Palette (collage and oil on canvas, 80 x 100 cm., 2006), Motion # 1 (acrylic and ink on canvas, 40 x 50 cm., 2007), Colliwospa and Nude (photomontage and oil on canvas, 60 x60 cm., 2008), Motion A # 6 (oil on canvas, 30 x 40 cm., 2013) เป็นต้น
สนามสี (Color Field) ศิลปินอเมริกันช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ใช้คำว่า “Color Field) เพื่อปฏิวัติการระบายสีอีกลักษณะหนึ่ง จากเทคนิคการระบายสีที่ยุ่งยากซับซ้อน มาสู่ พื้นที่ว่าง ความเรียบง่าย ขนาด สนามสี ให้พื้นที่และสีเป็นสิ่งสร้างความประทับใจ สร้างความน่าสนใจบนพื้นภาพ ผลงานในลักษณะสนามสีปรากฏในช่วงหลังที่ศึกษาที่ The American University และมีลักษณะผสมผสานกับกระบวนการอื่น ๆ ตลอดมา เช่น Underground (oil on canvas, 110 x 132 cm., 1985 / painted @ Illinois State University), Color Field, 1994/1 (oil on canvas, 90 x 110 cm., 1994), Color Field, 1994/2 (oil on canvas, 90 x 110 cm., 1994), Color Field, 1994/3 (oil on canvas, 90 x 110 cm., 1994) เป็นต้น
ภาพจิตใต้สำนึก (Subconsciousness)
ดังที่กล่าวถึงภาวะเก็บกดตามความคิดของฟรอยด์มาแล้ว ผ่านมานับด้วยศตวรรษความคิดดังกล่าวยังทรงอิทธิพลมาก ระดับสำนึก (conscious) ระดับจิตใต้สำนึก (subconscious) และระดับจิตไร้สำนึก (unconscious) ที่พร้อมจะเก็บกดและระบายออก ใครระบายออกไม่ได้ก็เป็นปัญหา เป็นโรคจิต ระดับจิตใต้สำนึกและระดับจิตไร้สำนึกอาจระบายออกด้วยความฝัน การระเมอ การพูดคุยอย่างอิสระ การแสดงออกทางศิลปะสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลจากความคิดดังกล่าวมากมาย ภาพสะท้อนทางศิลปะอาจสะท้อนออกจาก ภายใน (Inside) จิตสำนึกที่ผสมผสาน เก็บกด ซ่อนเร้นไว้ทุกคน โดยมีระดับจิตสำนึกตามความเป็นจริงในสังคม สังคมที่เป็นเรื่องของศีลธรรมจรรยา ศาสนา ความดีงามในสังคม ปิดบังหรือสร้างภาพภายนอกไว้ ผลงานที่สะท้อนจากภายใน เช่น Fighting (oil on canvas, 80 x 100 cm., 1971), My Sons’ Drawing (oil on canvas, 107 x 162 cm., 1985), More than Colors G (watercolor on paper, 62 x 46 cm., 1993), Between Good and Bad (oil on canvas, 125 x 106 cm., 1997), Between You and Me (oil on canvas, 60 x 40 cm., 2005), Nude and Painting I (oil and canvas, 60 x 45 cm., 2008), Laocoon I (oil on canvas, 50 x 40 cm., 2009), Songkran, 2009/1 (oil on canvas, 80 x 80 cm., 2009) เป็นต้น
สังคม (Society) ภาพสะท้อนจิตใต้สำนึกที่เกี่ยวกับสังคม เป็นภาวะที่เราได้รับความสับสนวุ่นวายหรือความชื่นชมยินดีจากสภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจ ชีวิตในสังคม ทั้งภาพรวมและปฏิกิริยาที่เราตอบสนองต่อสังคม ดีกรีของความเข้มแข็งและอ่อนแอแตกต่างกันไป ผลงาน เช่น Newly Industrialized Country (oil on canvas, 100 x 100 cm., 1992), 60th Hiroshima, 2005/1 (oil on canvas, 100 x 120 cm., 2005), Yellow Shadow (oil on canvas, 80 x 100 cm., 2006), Swing (oil on canvas, 120 x 100 cm., 2006), Wat Poomint’s Painting II (oil on canvas, 100 x 80 cm., 2007), Market (watercolor on paper, 38 x 56 cm., 1985) เป็นต้น
การเมือง (Politics) ภาพสะท้อนจิตใต้สำนึกที่เกี่ยวกับการเมือง อาจผสมผสานอยู่กับเรื่องสังคม เรื่องการเมืองในสังคมไทยมีความเลวร้ายรุนแรงตลอดมา หลังการรัฐประหาร ๒๕๔๙ ก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังกันทั่วประเทศ ประเทศชาติมีปัญหาและล้าหลัง ผู้คนในสังคมย่อมมีความรู้สึกนึกคิดที่หลากหลาย ภาพสะท้อนทางศิลปะย่อมหนีไม่พ้นปัญหาทางการเมืองอย่างแน่นอน มากหรือน้อย เข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง ดีกรีของรูปธรรมและนามธรรมก็แตกต่างกันออกไปด้วย ผลงานจิตรกรรมในที่นี้ เช่น Politics, 1992 (oil on canvas, 100 x 100 cm., 1992), Three Political Masks (oil on canvas, 120 x 100 cm., 2006), Politics, 2007/1 (oil on canvas, 100 x 80 cm., 2007), Global Crisis I (oil on canvas, 80 x 80 cm., 2009) เป็นต้น
ภาพสัมผัสกวีศิลป์ (Poetical Sense)
ภาพสัมผัสกวีศิลป์หรือ “Poetical Sense” เป็นคำที่สัมพันธ์กับความชื่นชมดื่มด่ำ กับธรรมชาติ ตามความคิดของอีเมอร์สัน ความชื่นชม ความไพเราะ ความประณีตงดงามของ บทกวี กวีนิพนธ์ สัมพันธ์หรือส่องทางให้กับงานจิตรกรรม หรืองานศิลปะอื่น ๆ ด้วย จิตรกรรมและบทกวีของจีนมักผสมผสานอยู่ด้วยกัน ดร.เจตนา นาควัชระ กล่าวว่า “ศิลปะย่อมส่องทางซึ่งกันและกัน” ทางจิตวิทยาศิลปะอาจพูดถึงสนามสุนทรียะ (Aesthetic Field) ที่ความงดงามทั้งหลายผสานสัมพันธ์อยู่บนสนามสุนทรียะเดียวกัน จิตรกรรมที่เกี่ยวกับ กวีศิลป์สัมพันธ์ (Poetic Relations) เป็นความพยายามที่จะบอกว่า มีผลงานศิลปะหรือผลงานจิตรกรรมจำนวนหนึ่งที่แสดงออกจากเนื้อหาสาระ ความงดงาม ความไพเราะของบทกวี เช่น ภาพผลงานจิตรกรรมชุด The Same Piece of Charcoal A และ B (oil on canvas, 101 x 122 cm., 2009), The Same Piece of Charcoal I, II, III (oil on canvas, 102 x 102 cm., 2009) ที่เขียนภาพจากบทกวีของตนเองชื่อ “ถ่านไฟก้อนเดิม” ตีพิมพ์ในหนังสือบทกวี “ลูกโป่งสบู่” จิตรกรรมสีน้ำมันชุดนี้เป็นการสะท้อนภาพจากบทกวีโดยตรง
คุณภาพเชิงกวีศิลป์ (Poetic Quality) คุณภาพเชิงกวีศิลป์หรือ “Poetic Quality” เป็นคำที่นักวิชาการศิลปะตะวันตกนิยมนำมาใช้กับงานทัศนศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานจิตรกรรมที่แสดงภาพแสงสีนุ่มนวล ให้ความรู้สึกเสมือนจินตนาการ ความฝัน เป็นความรู้สึกที่ชวนหลงใหล มากน้อยแตกต่างกันออกไป เช่น ภาพจิตรกรรมสีน้ำทิวทัศน์ Wat & Violet (watercolor on paper, 62 x 46 cm., 1991), Wat in Pink (watercolor on paper, 46 x 62 cm., 1992), Wat in BKK. I (watercolor on paper, 46 x 63 cm., 1993), หรือจิตรกรรมสีน้ำมัน เช่น Image of Landscape (oil on canvas, 90 x 120 cm., 1993), My Son’s Drawing (oil on canvas, 60 x 80 cm., 2006), White Chair (oil on canvas, 100 x 120 cm., 2009), Suphun Buri (oil on canvas, 50 x 60 cm., 2012), For Wat Dusitaram Mural Painting (oil on canvas, 120 x 100 cm., 2012) เป็นต้น
สัมผัสธรรมชาติ (Natural Sense) “Natural Sense” คาบเกี่ยวอยู่กับ “Poetic Quality” บ้าง พิจารณาคุณภาพเชิงกวีศิลป์ที่สะท้อนจากสภาพแวดล้อมหรือธรรมชาติสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น จิตรกรรมสีน้ำ Sea Shore (watercolor on paper, 38 x 56 cm., 1985), By the Street (watercolor on paper, 22 x 30 cm., 1987), H-Scape (watercolor on paper, 35 x 50 cm., 1995), K-Scape (watercolor on paper, 35 x 49 cm., 1995) จิตรกรรมสีน้ำมัน เช่น Forest (oil on canvas, 41 x 51 cm., 1990), Rainy Season (oil on canvas, 60 x 80 cm., 1992), Summer, 1994 (oil on canvas, 60 x 80 cm., 1994), Circle on the Sky II (oil on canvas, 40 x 50 cm., 1995), Red Yin-Yang (oil on canvas, 130 x 182 cm., 1998), Motion A # 2 (oil on canvas, 30 x 40 cm., 2013) เป็นต้น
จิตรกรรมรูปธรรม (Concrete Paintings)
ภาพผลงานจิตรกรรมที่แสดงรูปธรรม “concrete” ย่อมหมายถึงผลงานศิลปะ ผลงานจิตรกรรมที่แสดงให้เห็นรูปทรง เรื่องราว หรือเนื้อหาสาระชัดเจน เป็นรูปธรรมที่อาจมีความเป็นนามธรรมเป็นส่วนเสริมหรือส่วนประกอบ จริงอยู่จิตรกรรมย่อมมีส่วนประกอบศิลปะ รูปทรง รูปร่าง เส้น สี น้ำหนัก ลักษณะผิว เป็นปัจจัยประกอบ เพื่อให้มองเห็นได้ รับรู้ได้ แต่รูปธรรมในบริบทนี้ กินความถึงการแสดงออก ที่นำรูป นำเรื่องราวจากโลกภายนอก โลกที่สัมผัสได้ มองเห็นได้ นำมาเป็นหลักหรือเป็นตัวตั้งในการแสดงออก การชื่นชมผลงานจิตรกรรมดังกล่าว ย่อมอาศัยรูปทรงจากโลกภายนอกประกอบการชื่นชมจิตรกรรม ในอดีต จิตรกรรมตะวันตกได้ยึดถือความเป็นรูปธรรมเป็นเครื่องแสดงออก จิตรกรรมตะวันออก จิตรกรรมไทย ยึดถือนามธรรมเป็นเครื่องแสดงออก แต่วันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงและผสมผสานกันมากแล้ว
ภาพบุคคล (Person) ภาพบุคคลย่อมหมายถึงจิตรกรรมที่แสดงภาพ แสดงเรื่องราวหรือสาระที่เกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ในลักษณะหรือท่าทีต่าง ๆ กัน คนเป็นผู้ที่ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้าหรือล้าหลัง สร้างสรรค์หรือทำลาย ภาพบุคคลหรือภาพคนที่ศิลปินทุกชาติทุกภาษา ตะวันตก ตะวันออก ได้นำมาเป็นสื่อเพื่อสื่อสารความคิดในการแสดงออก ด้วยเนื้อหาสาระ รูปแบบ และกลวิธีที่หลากหลาย แปลกแตกต่างกันออกไป ด้วยกระบวนการที่ศิลปินแต่ละคนถนัดและชื่นชอบ นอกจากภาพบุคคลจะสะท้อนความคิดของแต่ละเชื้อชาติ แต่ละยุคสมัย แต่ละกาลเทศะแล้ว ภาพคนในงานศิลปะ งานจิตรกรรมยังเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ ที่กระตุ้นให้ ผู้ชื่นชม กระตุ้นให้ศิลปินรุ่นต่อ ๆ ไป พร้อมที่จะต่อยอดหรือสืบทอดพฤติกรรมเหล่านั้นต่อไปอีก พร้อมกับการคัดกรองที่เหมาะสมต่อไป ภาพเสมือน (Portrait) ความเหมือนที่แท้จริงคงไม่มี เป็นภาพเสมือนที่ทำให้เราระลึกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ศิลปินตะวันตกนิยมมาแต่อดีตกาล จวบจนมีกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้น ภาพเสมือนในผลงานจิตรกรรมหรือประติมากรรม ก็ผสานภาพกับความรู้สึกนึกคิดมากขึ้น ยิ่งภาพเสมือนในยุคสมัยใหม่ ยิ่งมีกลวิธีแสดงออกหลากหลายมาก ผลงานจิตรกรรมในที่นี้ เช่น I Myself (oil on canvas, 70 x50 cm., 2006), Hideo Sakata (oil on canvas, 90 x 60 cm., 2007), You Know Her (photomontage and oil on canvas, 80 x 80 cm., 2009), You are Pao-Chang (photomontage and oil on canvas, 70 x 100 cm., 2010), Pee-Kamol A/2011 (oil on canvas, 60 x 90 cm., 2011) เป็นต้น
ภาพคน (Human) ภาพคนในที่นี้ มุ่งเน้นภาพผลงานจิตรกรรมที่แสดงภาพเรื่องราวของคน เกี่ยวข้องกับคน เป็นพฤติกรรมของคน คนที่มีบทบาท มีปฏิกิริยาในชีวิต ในสังคม พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกับผู้อื่น กระทบกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ดีหรือเลว มากหรือน้อย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น จิตรกรรมสีน้ำมัน Woman and Ground (oil on canvas, 38 x 37 cm., 1978), Your Time (oil on canvas, 107 x 162 cm., 1985), Woman in Red (oil on canvas, 60 x 80 cm., 2007), Red and Pink Cave Painting (oil on canvas, 50 x 60 cm., 2008) เป็นต้น
ภาพศรัทธา (Icon) ภาพคนที่เราชื่นชอบ เคารพศรัทธาสูงส่ง เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นการแสดงออกซึ่งคารวธรรมที่ทุกคนพึงมี ความศรัทธาหรือภาพศรัทธาอาจเกี่ยวข้องกับศาสนา นักคิด นักปรัชญา ศิลปิน เป็นต้นแบบของเรา ทุกคนล้วนมีภาพศรัทธาอยู่ในตัวตน เช่น Picasso’s Square (oil on canvas, 107 x 107 cm., 1984), Heritage IIII (oil on canvas, 60 x 45 cm., 2008), Black Gandhi (oil on canvas, 80 x 80 cm., 2008), Einstein I (oil on canvas, 60 x 45 cm., 2008), My Teacher (oil on canvas, 100 x 100 cm., 2008), Elvis I (oil on canvas, 60 x 60 cm., 2008) เป็นต้น
ภาพสิ่งแวดล้อม (Environment)
สภาพสิ่งแวดล้อมย่อมหมายรวมถึงภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน สิ่งแวดล้อมในโลกกว้าง ที่เป็นประสบการณ์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับเราทุกคน เมื่อมนุษย์พบเห็น มนุษย์รับรู้ มนุษย์ชื่นชม ภาพประทับเหล่านั้นย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิด เกิดแรงบันดาลใจ แล้วเราก็จะแสดงออกเป็นภาพลักษณ์ ด้วยความงาม ความไพเราะ ที่หลากหลายแปลกแตกต่างกันออกไป ตะวันตก ตะวันออก ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ไทย ซึ่งล้วนมีท่าทีในการแสดงออกที่แตกต่างกัน ภาพผลงานจิตรกรรมที่เกี่ยวกับ ธรรมชาติ (Nature) ธรรมชาตืที่เกื้อกูลต่อโลกและต่อมนุษย์ ธรรมชาติที่เป็นแหล่งก่อเกิดทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมชาติที่เป็นรากฐานของ “ธรรม” ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่า “ธรรมะ ธรรมดา ธรรมชาติ ย่อมเป็นสิ่งเดียวกัน” จิตรกรรมที่แสดงออกมุ่งเน้นธรรมชาติ เช่น Summer ’85 (oil on canvas, 112 x 139 cm., 1985), Landscape and Rectangle (oil on canvas, 60 x 80 cm., 1992), Green Town (oil on canvas, 50 x60 cm., 1992), Z-Scape (oil on canvas, 58 x 76 cm., 1992), Green Tree (oil on canvas, 62 x 52 cm., 1997), Dec. 26th, 2004 B (photomontage and oil on canvas, 100 x 120 cm., 2005) เป็นต้น
มนุษย์สร้าง (Man-Made) ภาพจิตรกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมีมากมาย มีอยู่รอบตัวเรา มองเห็นได้ สัมผัสได้ มนุษย์มักจะสร้างแล้วมนุษย์ก็ทำลายด้วยตัวตนของเขาเอง ภาพเขียนคงทำหน้าที่บันทึกภาพ บันทึกความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่มนุษย์สร้างไว้ เช่น Ayudhaya (oil on canvas, 50 x 70 cm., 1968), Klong Rungsit (watercolor on paper, 38 x 56 cm., 1985), Tatien, BKK. (watercolor on paper, 29 x 44 cm., 1988), Wat in Action (watercolor on paper, 75 x 56 cm., 1991), Down Town (oil on canvas, 60 x 80 cm., 1990), Landscape and Canal (oil on canvas, 55 x 75 cm., 1992), X-Scape, 1996/1 (oil on canvas, 70 x 90 cm., 1996), Old Town I (oil on canvas, 40 x 50 cm., 2012) เป็นต้น
โลกกว้าง (World-Wide) สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับโลกกว้าง คงมุ่งเน้นไปสู่โลกกว้าง นานาประเทศ ต่างประเทศ ประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งดูเหมือนโลกใบนี้จะเล็กลงทุกวัน เรากำลังพูดถึงการเดินทางชั่วลัดฝ่ามือ เรากำลังพูดถึงความเร็ว ณ ปัจจุบันในโลกไซเบอร์ จิตรกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่บันทึกโลกกว้างไว้ จึงเป็นอีกความงดงามหนึ่งที่น่าสนใจ ผลงาน เช่น X-Scape (oil on canvas, 112 x 137 cm., 1985 / painted @ Illinois State University), 60th Hiroshima, 2005/2 (collage and oil on canvas, 120 x 120 cm., 2005), Russia and Black Signature (oil on canvas, 50 x 60 cm., 2008), Russia and Red Signature (oil on canvas, 65 x 80 cm., 2008) เป็นต้น
ภาพปฏิสัมพันธ์วัตถุ (Object Interactions)
วัตถุต่าง ๆ ก็อาจจะหมายรวมทั้งวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น และวัตถุที่ก่อเกิดมาตามธรรมชาติ วัตถุเบื้องหน้าของเรา วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งหรือวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ย่อมสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเรา ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน “สะพาน” ในความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน German Expressionism ในความรู้สึกนึกคิดของกวีและนักดนตรีอย่าง Simon & Garfunkel ในความรู้สึกนึกคิดของจิตรกรจีน ย่อมแตกต่างกันแน่นอน ความรู้สึกนึกคิด การแสดงออก และปรากฏการณ์ที่เป็นผลงานศิลปะ ย่อมมีคุณค่าและมีความงามที่หลากหลายด้วยเช่นกัน ซึ่งภาพปฏิสัมพันธ์วัตถุอาจสะท้อนออกมาในลักษณะ สัมผัสวัตถุ (Object Sense) เป็นความรู้สึกสัมผัสต่อวัตถุโดยตรง แสดงวัตถุให้ปรากฏ ให้เห็น ให้รับรู้ได้เด่นชัด ส่วนใครจะมีความรู้สึก นึกคิด มีความเชื่อ มีกลวิธีสร้างสรรค์อย่างไร ย่อมนำพาภาพสัมผัสวัตถุไปทางใดทางหนึ่งได้เช่นกัน เช่น Ban Chiang Civilization I (oil on canvas, 60 x 45 cm., 2008), Ancient Fish I (oil on canvas, 80 x 80 cm., 2008), Wat Pho Chinese Stone Giant C (oil on canvas, 120 x 100 cm., 2012), Chinese Stone Lion # 1 (oil on caqnvas, 80 x 60 cm., 2012), Double Image V (oil on canvas, 80 x 60 cm., 2012) เป็นต้น
ภาพถ่ายปะติด (Photomontage) ภาพถ่ายปะติดและภาพปะติด (collage) อาจผสมผสานอยู่ด้วยกัน อาจเป็นผลมาจากผลงานศิลปะของปิคาสโซ ในปี ๑๙๑๒ (๒๔๕๕) ที่ปิคาสโซนำวัสดุต่าง ๆ ปะติดลงบนภาพเขียน แล้วกระบวนการดังกล่าวก็พัฒนาสืบมามากมายจนถึงปัจจุบัน ผลงานชุดนี้ เช่น For S.C. I (collage and oil on canvas, 41 x 51 cm., 2001), White Buddha (photomontage and oil on canvas), Dec. 26th, 2004 A (photomontage and oil on canvas, 100 x 120 cm., 2005), W&W Art Collection , July 1st, 2007 (photomontage and oil on canvas, 66 x 81 cm., 2007), Nung-Yai (collage, oil, acrylic and spray on canvas, 80 x 100 cm., 2007), Colliwospa and Nude (photomontage and oil on canvas, 60 x 60 cm., 2008), For Bimbee (photomontage and oil on canvas, 100 x 100 cm., 2008) เป็นต้น
ดอกไม้ (Flowers) ดอกไม้เป็นสื่อหรือเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง การแสดงออกทางศิลปะ ๆ มักนำดอกไม้มาเป็นสื่อ ความประณีต ความงดงาม ความรัก ซึ่งมักเป็นสื่อที่แสดงออกในทางบวก ในทางดีงาม ส่วนใครจะมีความรู้สึกนึกคิดปลีกย่อยอย่างไร มีเทคนิคกลวิธีในการแสดงออกอย่างไร ย่อมชอบธรรม จิตรกรรมสีน้ำ เช่น Flower Painting I (watercolor on paper, 55 x 37 cm., 1994) Flower and Mirror A (watercolor on paper, 49 x 36 cm., 1994), Virtual Flowers (watercolor on paper, 24 x 32 cm., 2001) เป็นต้น
การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของชีวิต ผมได้สร้างสรรค์ภายใต้ประสบการณ์และเงื่อนไขของชีวิต มากหรือน้อยในแต่ละห้วงเวลา ผลงานจิตรกรรมที่เหลืออยู่ ณ วันนี้ มีจำนวนพอสมควร ได้นิทรรศการและร่วมนิทรรศการสืบมา ซึ่งก็นับเป็นภาพสะท้อนของชีวิตที่สำคัญยิ่งอีกด้านหนึ่ง
หมายเหตุ บทกวีชื่อ “ถ่านไฟก้อนเดิม” ที่เป็นเนื้อหาสาระกับผลงานจิตรกรรม The Same Piece of Charcoal (2009) หลายต่อหลายชิ้น
ถ่านไฟก้อนเดิม
เมื่อเด็กน้อยพบก้อนถ่านไฟ
เขาหยิบก้อนถ่านไฟ
ขีดเขียนบนผนัง
เขียนเป็นภาพนกน้อย
นกน้อยโบกบินไปทั่วผนัง
และบินจากไป
ทอดทิ้งผนังให้ว่างเปล่า
เมื่อเด็กน้อยเติบโตขึ้น
เขาพบนกตัวนั้น
กำลังโผบินในไพรกว้าง
เขาล่อใส่กรงขัง
และพากลับบ้าน
ฆ่านกน้อย
และปรุงเป็นอาหาร
ด้วยถ่านไฟก้อนเดิม
(ลูกโป่งสบู่ สำนักพิมพ์กระดาษสา ๒๕๒๗)
วิรุณ ตั้งเจริญ
๔ เมษายน ๒๕๕๖
|